สแตนเลสสตีล ( Stainless Steel ) คือ “เหล็กกล้าไร้สนิม”
สแตนเลส คือ โลหะผสมระหว่างเหล็ก คาร์บอน ( Carbon ) โครเมียม ( Chromium ) และสารประกอบอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติทนการกัดกร่อนสูง โดยปกติจะมีสารโครเมียมปริมาณมากกว่า 10% และมีปริมาณคาร์บอนไม่เกิน 2% โดยโครเมียมจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเหล็ก เกิดเป็นสารเคลือบผิวที่ป้องกันไม่ให้เกิดสนิมขึ้นได้ และโดยที่มีปริมาณคาร์บอนที่น้อย ทำให้สแตนเลสมีความเหนียวมากกว่าความแข็ง จึงเหมาะกับงานผลิตที่ต้องการน้ำหนักเบา หรือขึ้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น
ชนิดของสแตนเลสจะถูกแบ่งตามโครงสร้างของส่วนประกอบ โดยแบ่งได้ทั้งหมด 5 ประเภท คือ
1. Austenitic Stainless Steel
เป็นชนิดของสแตนเลสที่นิยมใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน มีส่วนประกอบโครเมียม 16-22% คาร์บอนน้อยกว่า 0.15% และนิกเกิล ( Nickel ) 8-12% โดยนิกเกิลมีคุณสมบัติเสริมความต้านทานการกัดกร่อน ทำให้สแตนเลสชนิดนี้ทนทานต่อการกัดกร่อนสูง ทนความร้อนได้ดี มีความเหนียว ขึ้นรูปและเชื่อมประกอบได้หลากหลาย และยังมีคุณสมบัติแม่เหล็กดูดไม่ติด ( Non-Magnetic ) จึงมีความปลอดภัย เมื่อต้องนำมาใช้กับงานงานโครงสร้าง หรือ ใช้ทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
2. Ferritic Stainless Steel
เป็นสแตนเลสที่นิยมใช้งานรองลงมา โดยจะมีความเหนียวน้อยกว่า Austenitic Stainless Steel เนื่องจากมีโครเมียมที่มากกว่า และมีนิกเกิลน้อย ทำให้มีข้อจำกัดในการขึ้นรูปและไม่สามารถชุบแข็งได้ Ferritic Stainless Steel สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 850°C จึงเหมาะกับงานที่เน้นความแข็งแรง ทนทานต่อแรงบีบอัด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
3. Duplex Stainless Steel
เป็นสแตนเลสที่ผสานโครงสร้างของสแตนเลส Austenitic Stainless Steel และ Ferritic Stainless Steel เข้าด้วยกัน มีความแข็งแรงสูงมาก มีส่วนประกอบของโครเมียมสูงถึง 20-28% และมีการเพิ่มสารโมลิบดีนัม ( Molydenum ) ที่จะช่วยเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน Duplex Stainless Steel จึงทนต่อสารเคมีและคลอไรด์ได้ดี เหมาะกับงานที่เกี่ยวข้องกับสารกัดกร่อน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การขุดเจาะใต้ทะเล ถังบรรจุสารเคมี โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
4. Martensitic Stainless Steel
เป็นสแตนเลสที่ทนการกัดกร่อนได้น้อยกว่าประเภทอื่น ๆ โดยมีส่วนประกอบของโครเมียม 12-14% คาร์บอนไม่เกิน 1% และนิกเกิลไม่เกิน 2% แต่มีข้อดีคือสามารถปรับเพิ่ม-ลดความแข็งของเนื้อสแตนเลสได้ด้วยการชุบแข็งและอบคืนไฟ ( Heat Treatment ) และยังมีความทนทานต่อการใช้งานสูง เหมาะกับการผลิตเครื่องมือแพทย์อย่างมีดผ่าตัด กรรไกรผ่าตัด ปากคีบ หรือเครื่องมือสำหรับตัด เช่น ใบมีดโกน ใบเลื่อย ใบคัตเตอร์ เป็นต้น
5. Hardening Grade
เป็นสแตนเลสที่ผ่านการเพิ่มความแข็งแรงโดยการตกตะกอน ทนการกัดกร่อนได้สูงใกล้เคียงกับ Austenitic Stainless Steel และสามารถปรับ-ลดความแข็งได้เช่นเดียวกับ Martensitic Stainless Steel มีส่วนประกอบของโครเมียมประมาณ 17% และนิกเกิลประมาณ 4% รวมถึงสารประกอบอื่น ๆ ที่ช่วยความแข็งแรง เช่น อะลูมิเนียม ( Aluminum ) ทองแดง ( Copper ) ไทเทเนียม ( Titanium ) เป็นต้น นิยมใช้กับอุปกรณ์ที่ต้องการความแข็งแกร่งและทนความร้อนสูง เช่น ปั๊มน้ำ วาล์ว หรือชิ้นส่วนภายในอากาศยาน เป็นต้น
ในท้องตลาดสแตนเลสจะถูกเรียกเป็นเบอร์เพื่อบอกระดับเกรดของสแตนเลส โดยปัจจุบันเกรดของสแตนเลสที่นิยมใช้งานในประเทศไทยเพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่
สแตนเลสเกรด 304 (SUS 304) หรือ สแตนเลส 18/8
เป็น Austenitic Stainless Steel ที่มีส่วนประกอบของโครเมียม 18% และนิกเกิล 8% มีคาร์บอนต่ำและมีความเหนียวและขึ้นรูปได้ดี ทนการกัดกร่อน ทำความสะอาดง่าย สามารถป้องกันแบคทีเรียไม่ให้เข้ามาเกาะหรืออาศัยอยู่บริเวณพื้นผิว สามารถรีไซเคิลได้ 100% เป็นสแตนเลสที่นิยมใช้ทำงานเฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่งภายใน และงานก่อสร้าง มากที่สุดในปัจจุบัน
สแตนเลสเกรด 316 (SUS 316) หรือ Stainless Marine Grade
เป็น Austenitic Stainless Steel มีส่วนประกอบเหมือนสแตนเลส เกรด 304 แต่มีการเพิ่มสารโมลิบดีนัม ทำให้สามารถทนการกัดกร่อนจากสารเคมี ทนความร้อนและการเกิดสนิมได้มากยิ่งขึ้น นิยมใช้ทำงานเฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่งภายใน และงานก่อสร้าง ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเล
สแตนเลสเกรด 316L (SUS 316L)
เป็น Austenitic Stainless Steel มีส่วนประกอบเหมือนสแตนเลส เกรด 316 แต่มีปริมาณคาร์บอนต่ำกว่าทำเหมาะกับงานที่ต้องการเชื่อมหลาย ๆ จุด เนื่องจากมีปริมาณคาร์บอนต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดรอยแตกร้าวระหว่างการเชื่อม
สแตนเลสเกรด 430 (SUS 430)
เป็น Ferritic Stainless Steel มีส่วนประกอบคล้ายสแตนเลส เกรด 304 แต่ไม่มีนิกเกิล ทำให้ทนการกัดกร่อนได้น้อยกว่าสแตนเลส 304 แต่ก็มีราคาที่ถูกว่า
สแตนเลสเกรด 201 (SUS 201)
ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้แทนสแตนเลส เกรด 304 โดยที่จะมีราคาที่ถูกกว่ามาก มีส่วนประกอบคล้ายสแตนเลส เกรด 304 แต่มีปริมาณแมงกานีส ( Manganese )สูง ทำให้มีความแข็งกว่าสแตนเลส 304 แต่มีความยืดหยุ่นที่น้อยกว่า มีผืนผิวสีเข้มกว่า และเป็นสนิมง่ายกว่าสแตนเลส 304
Yorumlar